มาตรฐาน REACH

ความเป็นมา

          จาก ข่าวผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ได้มาตรฐานของจีน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศจีนหลายคน และส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์นมของประเทศต่างๆ จากประเทศจีน รวมทั้ง ทำให้หลายประเทศในโลกต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้านำเข้าจาก ต่างประเทศ ก่อให้เกิดการเพิ่มความเข้มงวดของการควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการที่จะต้อง ได้มาตรฐาน และยิ่งนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ (นายบารัค โอบาม่า) ซึ่งเน้นความมีมาตรฐานของสินค้าและบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยแล้ว ส่ง ผลให้การแข่งขันได้ในเวทีโลกต่างต้องตระหนักถึงเรื่องของคุณภาพ มาตรฐานในสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น สำหรับมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศมีอยู่มากมายที่มีการกำหนดขึ้นทั้งที่อยู่ ในรูปความตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ (โลก ภูมิภาค อนุภูมิภาค และทวิภาคี) หรืออยู่ในรูปของข้อกำหนด กฎ ระเบียบของประเทศใดประเทศหนึ่ง ในบทความนี้จะขอยกกรณีของมาตรฐานระหว่างประเทศที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการ เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ และหาตัวแทน (Agent) หรือเครือข่าย (Network) ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการ มาตรฐานระหว่างประเทศที่ว่าคือ “REACH” หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า ระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป (Registration, Evaluation, and Authorization of Chemicals)

REACH คืออะไร

          REACH เป็น นโยบายของสหภาพยุโรปที่ทำขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่ใช้ทั้งภายในประเทศและที่ผ่านเข้าประเทศ ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีหลายฉบับ ทั้งที่เป็นของระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดการสารเคมี อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการมีกฎหมายเกี่ยวกับสารเคมีหลายฉบับดังกล่าว คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU Commission) จึง เสนอให้ปรับปรุงการจัดการสารเคมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสุขภาพอนามัยของมนุษย์และอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวด ล้อม เพื่อรักษาและส่งเสริมการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสารเคมีในประชาคม ยุโรป เพื่อป้องกันการแตกแยกของตลาดภายในประชาคมฯ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลของสารเคมี เพื่อทำให้เกิดบูรณาการความร่วมมือระดับสากล เพื่อลดการใช้สัตว์ทดลองในการทดสอบ และเพื่อให้ภาระผูกพันระดับสากลของ EU สอดคล้องกับการดำเนินงานภายใต้ WTO โดยเสนอร่างระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยสารเคมีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550

แนวทางการใช้ระบบ REACH

          แนวทางการใช้ระบบ REACH จะมีทั้งการจดทะเบียน การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง รวมไปถึงการขออนุญาตและผลิตหรือนำเข้าสารเคมีไปจำหน่ายในสหภาพยุโรประบบ REACH เป็นการควบคุมกระบวนการที่เน้นในเรื่องของการนำเข้าที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ประกอบด้วย ตัวสารเคมีเอง (Substance) หรือสารเคมีที่อยู่ในเคมีภัณฑ์ (Substance in Preparation) หรือสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ (Substance in Article) ซึ่งเริ่มตั้งแต่

  • การจดทะเบียน (Registration) ผู้ ผลิตหรือผู้นำเข้าที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสหภาพยุโรปตั้งแต่ 1 ตันต่อปี ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าที่ถูกต้องตามกฎ ระเบียบนี้ สำหรับผู้ผลิตนอกสหภาพยุโรปที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนเองได้ ต้องมีบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในสหภาพยุโรปทำการแทนเรียกว่า “Only Representative”
  • การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง (Evaluation) เป็นการประเมินความเป็นอันตรายและความเสี่ยงของสารเคมีที่ผู้ขอจดทะเบียนยื่นเสนอในรายงานตามข้อกำหนดของ REACH โดยมีคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี ประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับใช้ประเมิน ว่าสารเคมีนั้นเป็นอันตรายแก่สิ่งมีชีวิตและมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรและ มากน้อยเพียงใด ซึ่งการประเมินจะมีทั้งประเมินจากเอกสาร และประเมินจากตัวสารเคมี
  • การขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า (Authorization) เป็น การอนุญาตให้ผลิตหรือใช้สารเคมีที่ต้องระมัดระวังอันตรายในการใช้และการ สัมผัสเป็นอย่างมาก ได้แก่ สารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ และสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ รวมถึงสารที่มีพิษตกค้างยาวนาน ผู้ขออนุญาตต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถใช้สารเคมีนั้นๆ เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะได้อย่างปลอดภัย การ อนุญาตจะเป็นการอนุญาตให้ใช้สารเคมีนั้นๆ ตามวิธีและเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น โดยมีคณะกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีๆ ไปเป็นผู้อนุญาต คาดว่าจะมีสารเคมีที่ต้องพิจารณาประมาณ 1,400 รายการ

ประเภทสารเคมีที่ต้องอยู่ภายใต้กฎ ระเบียบ REACH

          ระบบ REACH มี ข้อกำหนดที่บังคับใช้กับตัวสารเคมีทุกรายการ ที่มีการผลิตหรือการนำเข้าตั้งแต่ 1 ตันต่อปีต่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า รวมไปถึงสารเคมีที่เกิดขึ้นในกระบวนการที่มีการแยกออกมาจากระบบ (Isolated Intermediates on Site) โพลิเมอร์เฉพาะที่จัดเป็นสารอันตรายตามเกณฑ์ที่ระบุในข้อกำหนดของ Directive 67/548/EEC เคมี ภัณฑ์ ซึ่งเกิดจากการผสมสารเคมี เช่น สี ตัวผลิตภัณฑ์ไม่ต้องจดทะเบียน แต่สารเคมีที่ใช้เป็นองค์ประกอบต้องจดทะเบียน รวมถึงสินค้า เช่น รองเท้า เสื้อผ้า ซึ่งอาจมีสารอันตรายออกมาขณะที่ใช้หรือกำจัด ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนสารในสินค้าหากยังไม่ได้มีการจดทะเบียนไว้ ก่อน

มีสารเคมีบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นตามกฎ ระเบียบ REACH ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นเนื่องจาก อยู่ในขอบข่ายการควบคุมของ Directive อื่น เช่น ยา เป็นต้น อาหารหรืออาหารสัตว์ ซึ่งหมายถึง สารปรุงแต่งในอาหาร สารแต่งกลิ่นรสในอาหาร สารปรุงแต่งในอาหารสัตว์ และอาหารเสริมสำหรับสัตว์ ผลิตภัณฑ์ตาม Annex II และ III หรือ Re-import รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนายกเว้นคราวละ 5 ปีสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

           และมีสารเคมีบางประเภทที่อยู่นอกขอบข่ายไม่ต้องจดทะเบียนตามกฎ ระเบียบ REACH ได้แก่ สารกัมมันตรังสี ผลิตภัณฑ์ภายใต้การควบคุมดูแลของศุลกากร Non-isolated Intermediate การ ขนส่งสารอันตราย หรือเคมีภัณฑ์อันตรายโดยทางรถไฟ ถนน ทางน้ำ ทางทะเล หรือทางอากาศ ของเสียต่างๆ สารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ

ผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎ ระเบียบ REACH

           ผู้ที่เกี่ยวข้องมีตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และสามารถร่วมกันทำในรูปเครือข่าย (Consortia) ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ผลิตผู้ใช้ต่อเนื่อง (Downstream Users) มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามกฎ ระเบียบ REACH และต้องจัดทำรายงานการประเมินความปลอดภัยของสารเคมี (Safety Data Sheet : SDS) ตลอดจน ผู้ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทุกช่วงจะต้องถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับการทำประเมิน ความปลอดภัยของสารเคมีของสารนั้นไปให้ผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไป
           ที่สำคัญคือ ผู้จดทะเบียนสามารถใช้ข้อมูลของผลการศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่มีอยู่เดิมได้ ถ้ากรณีที่มีการจดทะเบียนไว้อยู่เดิม ให้ยื่นเรื่องล่วงหน้า 1 ปีครึ่งก่อนหมดกำหนดการจดทะเบียนสารนั้น แต่ ถ้าเป็นการจดทะเบียนสารใหม่ ก็สามารถที่จะทำความตกลงขอใช้ข้อมูลที่ต้องเสนอให้เจ้าหน้าที่ตามข้อกำหนด จากผู้จดรายแรกได้ โดยจ่ายเงินค่าสิทธิการใช้ข้อมูลนั้นด้วย นอกจาก นั้น สามารถร่วมกันกับผู้จดทะเบียนที่ผลิตหรือนำเข้าสารเดียวกันทำการทดลองค้น คว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีร่วมกันในรูปเครือข่าย เพื่อประหยัดเงินและลดการใช้สัตว์ทดลอง เพราะสามารถร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และลดความซ้ำซ้อนในการทดสอบลงป

ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจของไทย

           ผลกระทบของกฎ ระเบียบ REACH ต่อธุรกิจของไทยมีทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ กรณีของประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ (Article Producers) ซึ่งหมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นผู้ใช้สารเคมีเพื่อผลิตสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นผู้ผลิตสารเคมีและส่งไปขายในสหภาพยุโรป จากการศึกษาของ ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงผลกระทบต่อธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ไว้ว่าจะมีทั้งผลกระทบในเชิงลบ และผลกระทบในเชิงบวก
          ผลกระทบในเชิงลบ คือ ภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากการแต่งตั้งตัวแทนสำหรับการจด ทะเบียนในสหภาพยุโรป การเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนสารเคมี (SDS) การถ่ายทอดข้อมูลให้กับคู่ค้าทุกช่วงในห่วงโซ่อุปทาน และการแบกรับภาระราคาสารเคมีที่สูงขึ้น
           ในขณะเดียวกัน ตามระเบียบ REACH ได้ เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสารเคมีมีทางเลือกโดยการแจ้งข้อมูลระบุวัตถุประสงค์การ ใช้สารของตนให้ผู้ผลิตสารเคมีทราบ เพื่อให้ทำรายงานการประเมินความเสี่ยงครอบคลุมการใช้สารนั้นด้วยโดยที่ผู้ ซื้อสารเคมีหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไม่ต้องทำรายงานการประเมินความเสี่ยง แต่วิธีการให้ข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้ความลับทางการค้ารั่วไหลได้ ทางหลีกเลี่ยงคือ ผู้ประกอบการคงต้องลงทุนทำรายงานการประเมินความเสี่ยงเองที่ต้องอาศัยองค์ ความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำรายงานมากมาย แต่ความพร้อมของห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้การรับรองจากระบบ REACH ใน ประเทศไทยยังมีอยู่น้อย คงต้องหันไปพึ่งพาห้องปฎิบัติการของต่างประเทศ และที่สำคัญคือ บางครั้งผู้ประกอบการอาจต้องพึ่งพาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีของต่าง ประเทศ เนื่องจากระบบนี้อนุญาตให้ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินความเป็นอันตรายของ สารที่มีผู้ทำการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบการที่จะต้องรู้แหล่งข้อมูล ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสิทธิการใช้ข้อมูลของผู้จดทะเบียนรายแรก และอาจถูกผู้จดทะเบียนรายแรกกีดกันมิให้ใช้ข้อมูลด้วยการหน่วงเหนี่ยว การยื่นฟ้องศาลเพื่อล้มล้างการกีดกันดังกล่าวจะใช้เวลานานในการพิจารณา ตัดสิน ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสทางการค้าได้
           ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยคือ อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการประเมินความเสี่ยงที่สูงจากการใช้สูตรหรือ องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิตเดิมจากการใช้สารเคมีที่เข้าข่ายอยู่ในกระบวนการของ REACH
           ผลกระทบในทางบวก อาทิเช่น การรวบรวมและจัดระบบข้อมูลสารเคมีที่ใช้ในการผลิตนับเป็นจุดเริ่มต้นของการ จัดการสารเคมีของผู้ประกอบการไทยอย่างเป็นระบบ ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น มีการใช้ข้อมูลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตมากขึ้น หรือเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศสำหรับผู้ผลิตสารเคมี และผู้ใช้สารเคมีผลิตสินค้าในสหภาพยุโรปบางรายที่ได้รับผลกระทบและมีแนวโน้ม ต้องการย้ายฐานการผลิตให้อยู่นอกสหภาพยุโรป แต่กรณีนี้ คงต้องพึงระวังและพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีสารหลงเหลือในผลิตภัณฑ์จริง

การเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทย

          หลัง จากระเบียบนี้มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ได้มีการกำหนดระยะเวลาการจดทะเบียนให้แล้วเสร็จ (เส้นตาย) โดยกำหนดเวลาการจดทะเบียนไว้ดังนี้

  • ให้ เวลาเตรียมการตั้งแต่ 3 ปี (สิ้นสุดการขอจดทะเบียนวันที่ 30 พ.ย. 2553) สำหรับสารเคมีที่มีปริมาณการผลิตหรือนำเข้าต่อปีต่อรายมากกว่า 1,000 ตัน หรือสารกลุ่มที่เป็นปัญหา (CMR มากกว่า 1 ตัน และสารเคมีที่เป็นอันตรายมากกับสิ่งแวดล้อมมีชีวิตอาศัยในน้ำ (R50/53) มากกว่า 100 ตัน)
  • ระยะเวลา 6 ปี (สิ้นสุดการขอจดทะเบียน 31 พ.ค. 2556) สำหรับสารเคมีที่มีปริมาณ 100-1,000 ตัน
  • และระยะเวลา 11 ปี (สิ้นสุดการขอจดทะเบียน 31 พ.ค. 2561) สำหรับสารเคมีที่มีปริมาณตั้งแต่ 1-100 ตัน

นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนไขกำหนดไว้เพิ่มเติมว่า จะเปิดให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้า (Pre-registration) ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 1 ธันวาคม 2551 โดยเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่หน่วยงาน European Chemical Agency (ECHA) ของ คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการรายใดจดทะเบียนล่วงหน้าจะสามารถขยายเวลาที่กำหนดไว้ออกไป ได้อีกระยะหนึ่ง แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสารและปริมาณที่ผลิตหรือนำเข้า

เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการเริ่มใช้มาตรการ REACH อย่าง จริงจัง ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐ ต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับกฎ ระเบียบ และข้อปฎิบัติให้กับผู้ประกอบการของไทยกลุ่มที่ต้องเกี่ยวข้อง สำหรับภาคเอกชนเอง คงต้องมีการรวบรวมรายการสารเคมีที่ใช้ทั้งหมด ตรวจสอบปริมาณที่ใช้ และดูว่าอยู่ในขอบข่ายของรายงานประเมินความปลอดภัย (SDS) หรือ ไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องรีบแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก่อนหน้าทราบ จัดให้มีการวิจัยและพัฒนาสารทดแทนที่ถูกระบุไว้ในข้อกำหนดของ REACH รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง

OurParteners

www.HiPolyTech.com