RoHS มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม

          เวลาเลือกดูสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือใน Datasheet ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ คงจะเคยเห็นสัญลักษณ์วงกลม ที่มีตัวอักษร “Pb” แล้วคาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีเขียนคำว่า “RoHS Compliant” หรือจะเขียนว่า “Pb-Free”, “Green” หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นหมายความว่าอุปกรณ์เหล่านั้น ผ่านตามข้อกำหนดที่เรียกว่า “RoHS” (สัญลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน เนื่องจากไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นทางการ)

RoHS คืออะไร

           RoHS ย่อมาจากคำว่า Restriction of Hazardous Substances เป็นข้อกำหนดที่ 2002/95/EC ของสหภาพยุโรป (EU) ว่าด้วยเรื่องของการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหมายความรวมถึงเครื่องใช้ทุกชนิด ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าในการทำงาน เช่น โทรทัศน์ เตาอบไมโครเวฟ วิทยุ เป็นต้นซึ่งหมายความว่า ชิ้นส่วนทุกอย่างที่ประกอบเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ตั้งแต่แผงวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสายไฟ จะต้องผ่านตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยสารที่จำกัดปริมาณในปัจจุบัน กำหนดไว้ 6 ชนิด ดังนี้

  • ตะกั่ว (Pb)ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
  • 2.ปรอท (Hg ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
  • แคดเมียม (Cd)ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนัก
  • เฮกซะวาเลนท์ (Cr-VI)ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
  • โพลีโบรมิเนต ไบเฟนนิลส์ (PBB)ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
  • โพลีโบรมิเนต ไดเฟนนิล อีเธอร์ (PBDE)ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

          แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับอุปกรณ์บางอย่าง ที่ยังไม่สามารถใช้สารอื่นมาทดแทนได้ หรือสารที่ใช้ทดแทน มีอันตรายมากกว่า เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ ตะกั่วในเหล็กอัลลอย นอกจากนี้ เครื่องมือด้านการแพทย์ และการทหาร ก็อยู่ในข้อยกเว้น

RoHS มีผลกับใครบ้าง

          RoHS เป็นข้อกำหนดที่บังคับใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ซื้อขายในสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี2006 แต่ในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ก็เริ่มที่จะกำหนดข้อบังคับในลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายดังกล่าว ก็ควรจะเริ่มศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อกำหนดนี้ให้มากขึ้น เพราะในอนาคต ข้อกำหนดนี้ก็คงจะแผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก

เลือกใช้อุปกรณ์ Pb-Free

          สำหรับ นักอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นผู้ออกแบบวงจร สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free หรือ RoHS ได้ โดยผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกยี่ห้อ มักจะผลิตอุปกรณ์รุ่นที่เป็น Pb-Free ออกมาทดแทนอุปกรณ์รุ่นเก่า โดยอาจจะเพิ่มตัวอักษรเช่น ‘G’ เข้าไปใน Part Number แต่ยังคงมีมีฟังก์ชันการทำงานเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ สิ่งที่แตกต่างจากเดิมก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถทนความร้อนสูงที่ใช้ในการะบวนการประกอบแผงวงจรได้ เนื่องจากสารที่ใช้เชื่อม (ตะกั่ว) ที่เป็นแบบ Pb-Free นี้ จะมีจุดหลอมเหลวที่สูงขึ้นกว่าแบบที่ไม่เป็น Pb-Free แต่สำหรับท่านที่ซื้ออุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free มาแล้ว แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่านข้อกำหนดดังกล่าว สามารถบัดกรีด้วยตะกั่วแบบธรรมดาได้ ซึ่งจะบัดกรีง่าย และสวยงามกว่า เนื่องจากตะกั่วธรรมดาจะละลายง่าย และมีความเงางามมากกว่าตะกั่วแบบ Pb-Free

OurParteners

www.HiPolyTech.com